ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ทันตแพทย์ ดร. สถิตย์ สิริสิงห (9 มกราคม 2480 - ) นักวิจัยผู้บุกเบิกสาขาอิมมิวโนวิทยาของประเทศไทยในยุคเริ่มแรก นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา และ เจ้าของรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นสาขาจุลชีววิทยา ประจำปี พ.ศ. 2531 ด้วยผลงาน "ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเนื่องมาจากการขาดสารอาหาร" ศ.ดร.สถิตย์ เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนโตของ ศาสตราจารย์พันโท ทันตแพทย์ สี สิริสิงห ทันตแพทย์ประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคุณหญิงอัมพร สิริสิงห สมรสกับ พญ. วลัยรัตน์ สิริสิงห มีบุตรธิดา 3 คน คือ พญ. ธิติยา รศ.ดร. ชาคริต และ นส. วิทิดา สิริสิงห
สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และเตรียมอุดมศึกษา จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ตามลำดับ เมื่อปี พ.ศ. 2496 สอบเข้าจุฬาฯ ตั้งใจจะเรียนแพทย์ แต่เรียนได้ 2 เดือน ก็เปลี่ยนความตั้งใจไปศึกษาต่อยังสหรัฐอเมริกา เมื่ออายุเพียง 15 ปี โดยมีชื่อเรียกขานแบบอเมริกันระหว่างที่พำนักอยู่กับครอบครัว Volker ว่า "Steve Sirisinha" สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี พร้อมกัน 2 ปริญญา คือ วิทยาศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) และอักษรศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากแจ็คสันวิลล์คอลเลจ เมื่อปี พ.ศ. 2500
ต่อจากนั้น ได้เข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยอลาบามา และได้รับปริญญาวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา และปริญญาทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยม) ในปี พ.ศ. 2504 และศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโรเชสเตอร์ จนได้รับปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาจุลชีววิทยา (อิมมิวโนวิทยา) ในปี พ.ศ. 2508
เมื่อสำเร็จการศึกษา ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ จนถึงปี พ.ศ. 2510 จึงโอนมารับราชการที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตามคำชักชวนของ ศาสตราจารย์ ดร. สตางค์ มงคลสุข และในปี พ.ศ. 2513 ได้ไปปฏิบัติงานวิจัยหลังปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้น ได้กลับมารับราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดลต่อ ตนได้รับตำแหน่งทางวิชาการสูงขึ้นเป็นลำดับ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ เมื่อปี พ.ศ. 2522
มีผลงานวิจัยและบทความทางวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ และบทความในตำราต่างๆ รวมประมาณ 193 เรื่อง หลังเกษียณอายุราชการ มีงานตีพิมพ์ประมาณ 50 เรื่อง โดยเป็นผลงานวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาระบบภูมิต้านทานทั้งในคนและสัตว์ทดลอง ความผิดปรกติของภูมิต้านทานในคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กขาดสารอาหาร การวิจัยเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันเฉพาะแหล่ง และโครงสร้างของอิมมิวโนโกลบูลิน การวิจัยเกี่ยวกับ วิทยาภูมิกันและชีวโมเลกุลของโรคติดเชื้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและประเทศแถบเอเซีย เช่นโรคพยาธิบางชนิด ได้แก่ พยาธิใบไม้ในตับ (Opisthorchis vierrini) พยาธิตัวจี๊ด (Gnathostoma spinigerum) และ พยาธิตัวกลม (Angiostrongylus cantonensis) โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่นโรค Melioidosis ที่เกิดจากเชื้อ Burkholderia pseudomallei โรคที่เกิดจากเชื้อรา Penicillium marneffei เป็นต้น ผลงานวิจัยเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบภูมิต้านทานในคนที่พยาธิสภาพผิดปรกติ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการป้องกันและวินิจฉัยโรคดังกล่าว